สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย : Dental Auxiliary Association Thailand

สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย

ข้อบังคับของสมาคม

สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย

ประกาศ ว่าด้วยสวัสดิการของสมาชิกสมาคม

  • กรณีสมาชิกเจ็บป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่งกระเช้าเยี่ยมไข้ วงเงิน 500 บาท
  • กรณีสมาชิกเสียชีวิต ส่งพวงหรีด วงเงิน 500 บาท และเงินช่วยเหลือ จำนวน 3,000 บาท
  • กรณีบิดามารดา คู่สมรส และบุตรของสมาชิกเสียชีวิต ส่งพวงหรีด วงเงิน 500 บาท และเงินช่วยเหลือ จำนวน 1,000 บาท

ประกาศ ว่าด้วยสวัสดิการของสมาชิกสมาคม

  • จัดประชุมใหญ่ และประชุมวิชาการ ในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
  • จำหน่ายเสื้อและผลิตภัณฑ์ของสมาคม อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการพิจารณาว่าเหมาะสม

ข้อบังคับสมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย
Dental Auxiliary Association Thailand

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมทันตาภิบาลแห่งประเทศไทย” ใช้อักษรย่อ “สทภท.”

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคม เป็นสัญลักษณ์รูปมือสีม่วงที่คอยประคับประคองฟัน พร้อมชื่อสมาคมทันตาภิบาลภาษาไทยอยู่ด้านซ้าย ภาษาอังกฤษอยู่ด้านขวา

ความหมายของสัญญาลักษณ์
  • มือสีม่วง หมายถึง มือของทันตาภิบาลทุกคน สีม่วงแทนสีของทันตสาธารณสุข
  • มือสีม่วงที่รองรับฟัน หมายถึง หน้าที่ของทันตาภิบาลคอยดูแลปกป้องฟัน ซึ่งหมายถึงการทำให้ประชาชนมีสุขภาพช่องปากที่ดี
  • สีพื้นสีชมพู หมายถึง ความสดใส ความยินดี ความเอื้ออาทรในการทำงาน ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข
ข้อ 3. สำนักงานใหญ่ของสมาคม ตั้งอยู่ ณ ชั้น 6 อาคาร 4 ตึกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

ข้อ 4. วัตถุประสงค์
4.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ และประสบการณ์ระหว่างสมาชิก และระหว่างสมาชิกกับสมาคม
4.2 เพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมร่วมกัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางวิชาชีพและสังคม
4.3 เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรัก ความสามัคคีและสนับสนุนสวัสดิการแก่สมาชิก
4.4 เพื่อเผยแพร่ข่าวสารและวิทยาการด้านสาธารณสุข ตลอดจนเผยแพร่เกียรติคุณของสมาชิกและสมาคม
4.5 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนางานสาธารณสุขให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
4.6 เพื่อร่วมมือและประสานงานกับสโมสร สมาคม ชมรม หรือมูลนิธิอื่น ที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกัน
4.7 สมาคมจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และไม่ตั้งโต๊ะสนุกเกอร์
ข้อ 5. สมาชิกสามัญของสมาคม มี 3 ประเภท คือ
5.1 สมาชิกสามัญ หมายถึง ผู้ที่ผ่านการศึกษาและอบรมหลักสูตรทันตาภิบาล/ทันตสาธารณสุข จากกระทรวงสาธารณสุข
5.2 สมาชิกวิสามัญ หมายถึง ผู้ซึ่งมีความสนใจ ในกิจกรรมของสมาคม หรือเป็นนักศึกษาปัจจุบันของวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร
5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายถึง ผู้ที่คณะกรรมการเห็นชอบและเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 6. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปดังนี้
6.1เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
6.2 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
6.3 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าว จะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7. ค่าบำรุง
7.1 สมาชิกสามัญและสมาชิกวิสามัญ เสียค่าบำรุงตลอดชีพ 1,000 บาท สมาชิกรายปี ๆ ละ 200 บาท ถ้าสมัครเป็นสมาชิก 5 ปี ติดต่อกันจะนับเป็นเสียค่าบำรุงตลอดชีพ
7.2 สมาชิกกิตติมศักดิ์ไม่เสียค่าบำรุง

ข้อ 8. การสมัครเป็นสมาชิกของสมาคม
ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบและวิธีการที่สมาคมกำหนดไว้ ให้นายทะเบียนสมาคมตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร แล้วนำรายชื่อผู้สมัครใหม่เสนอคณะกรรมการ เพื่ออนุมัติเป็นครั้งคราว สมาชิกภาพจะสมบูรณ์เมื่อผู้สมัครได้ชำระค่าบำรุงครบถ้วนแล้ว ยกเว้นสมาชิกกิตติมศักดิ์

ข้อ 9. สิทธิของสมาชิก
9.1 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและเสนอข้อคิดเห็นในการดำเนินการต่างๆ ของสมาคม
9.2 มีสิทธิเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้น
9.3 มีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลหรือเอกสารต่างๆ ที่สมาคมจัดทำขึ้น
9.4 สมาชิกสามัญมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งและมีสิทธิได้รับการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการของสมาคม
9.5 มีสิทธิจะได้รับการบริการช่วยเหลือ หรือผลประโยชน์ที่สมาคมได้จัดขึ้น

ข้อ 10. สิทธิของสมาชิก
10.1 หน้าที่ของสมาชิก
10.2 เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม และมติที่ประชุมของสมาคม
10.3 ให้ความร่วมมือช่วยเหลือ และสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่สมาคมจัดขึ้น
10.4 เผยแพร่ชื่อเสียง เกียรติคุณสมาชิก และสมาคม ให้เป็นที่ยอมรับของสังคมมากขึ้น

ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกย่อมสิ้นสุดลง เมื่อ
11.1 ตาย
11.2 ลาออก
11.3 คณะกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของทั้งคณะเห็นสมควรให้ออก

ข้อ 12. เมื่อสมาชิกภาพของผู้ใดสิ้นสุดลง ให้นายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนสมาชิก แล้วแจ้งให้คณะกรรมการทราบในการประชุมคณะกรรมการ
ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 17 คน ประกอบด้วย นายกสมาคม อุปนายก นายทะเบียน เหรัญญิก เลขานุการ ประชาสัมพันธ์ ปฏิคม วิชาการ และตำแหน่ง อื่นๆ ตามที่เห็นสมควร ให้นายกสมาคมเป็นประธานคณะกรรมการของสมาคม

ข้อ 14. ให้มีนายกสมาคม 1 คน โดยการเลือกตั้งจากสมาชิกสามัญ และให้นายกสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการตำแหน่งต่างๆ ตามข้อ 13 แห่งข้อบังคับนี้

ข้อ 15. คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
15.1 ดำเนินกิจการทั้งปวงของสมาคม ให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้
15.2 ดำเนินกิจการอื่นใดตามที่เห็นสมควรเพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าตามวัตถุประสงค์ของสมาคม
15.3 ออกระเบียบใด ๆ เพื่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าของสมาคม แต่ทั้งนี้ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้

ข้อ 16. นายกสมาคม นอกจากมีอำนาจตามข้อ 15 แล้วยังมีหน้าที่ดังต่อไปนี้
16.1 แต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ 13
16.2 เป็นประธานในการประชุมต่างๆ
16.3 ประสานงานของสมาคมให้ดำเนินไปตามวัตถุประสงค์
16.4 ควบคุมการดำเนินงานของคณะกรรมการ
16.5 ควบคุมและกำกับนโยบายสมาคม
16.6 ดำเนินการอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการหรือที่ประชุมใหญ่สมาชิก

ข้อ 18. นายทะเบียน มีหน้าที่
18.1 จัดทำและเก็บรักษาทะเบียนสมาชิก การรับสมัครสมาชิก และรายงานต่อนายกสมาคม

ข้อ 19. เหรัญญิก มีหน้าที่
19.1 ควบคุมเก็บรักษาเงิน และการเบิกจ่ายเงินของสมาคม
19.2 จัดทำและเก็บรักษาเอกสารการเงินของสมาคม
19.3 จัดทำรายงานการรับ-จ่าย และงบดุล เสนอต่อนายกสมาคม

ข้อ 20. เลขานุการ มีหน้าที่
20.1 ประสานการดำเนินงานและติดต่อสื่อสารในกิจการสมาคมที่นายกสมาคมมอบหมาย
20.2 จัดการประชุมคณะกรรมการ
20.3 รวบรวมหลักฐานการดำเนินงาน, กิจกรรม, หลักฐานขออนุมัติเบิกจ่ายเงินส่งเหรัญญิก

ข้อ 21. ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่
21.1 จัดทำจดหมายข่าว จุลสาร เอกสารเผยแพร่ของสมาคม
21.2 เผยแพร่ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและผลงานของสมาคม และมวลสมาชิก

ข้อ 22. ปฏิคม มีหน้าที่
22.1 ประสานงานการหาทุนสำรองสำหรับกิจการต่างๆ ของสมาคม
22.2 ดำเนินการจัดการประชุมใหญ่สมาชิก และการประชุมอื่นๆ นอกเหนือจากการประชุมคณะกรรมการสมาคม
22.3 ให้การต้อนรับผู้มาติดต่อ และเยี่ยมชมกิจการของสมาคม
ข้อ 23. ตำแหน่งนายกสมาคม
23.1 นายกสมาคมอยู่ในตำแหน่ง คราวละ 4 ปี แต่ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับเลือกตั้งใหม่ติดต่อกันได้ แต่ไม่เกิน 2 วาระ

ข้อ 24. คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
24.1 ตาย
24.2 ลาออก
24.3 นายกสมาคมถึงคราวออกตามวาระ
24.4 ขาดจากสมาชิกภาพ
24.5 ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ออก

ข้อ 25. ตำแหน่งคณะกรรมการว่างลง นอกจากออกตามวาระ ให้นายกสมาคมแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่แทนภายใน 30 วัน เว้นแต่วาระการดำรงตำแหน่งของนายกสมาคมจะสิ้นสุดลงไม่เกิน 30 วัน คณะกรรมการที่แต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง มีสิทธิดำรงตำแหน่งนั้นเท่ากับผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง

ข้อ 26. ถ้าตำแหน่งคณะกรรมการว่างลง เมื่อถึงคราวออกตามวาระ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งนั้นอยู่ปฏิบัติงาน จนกว่าจะได้ทำการมอบหมายงานให้คณะกรรมการที่ได้รับเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่เป็นลายลักษณ์อักษร ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน หลังจากเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

ข้อ 27. การมอบหมายงานระหว่างคณะกรรมการแต่ละตำแหน่ง ให้ทำเป็นหนังสือ และมีคณะกรรมการอื่นเป็นพยาน อย่างน้อย 2 คน

ข้อ 28. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี 2 ประเภท คือ
28.1 ประชุมใหญ่สามัญ
28.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 29. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญแก่สมาชิก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

ข้อ 30. การประชุมใหญ่วิสามัญแก่สมาชิก อาจจัดให้มีขึ้นได้ต่อเมื่อคณะกรรมการมีมติเสียงข้างมากไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการทั้งหมด หรือสมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอเป็นหนังสือต่อนายกสมาคม

ในกรณีที่สมาชิกสามัญร้องขอให้แจ้งความประสงค์อย่างชัดแจ้ง เกี่ยวกับเรื่องที่ขอให้มีการประชุม และให้นายกสมาคมจัดให้มีการประชุมภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับคำร้องจากสมาชิก

ข้อ 31. การประชุมใหญ่ ซึ่งจัดให้มีขึ้น จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม

ในกรณีสมาชิกสามัญมาประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้นายกสมาคมเรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่งภายใน 30 วัน นับจากวันกำหนดการประชุมครั้งก่อน ข้อ 32. ที่ประชุมใหญ่ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
32.1 เลือกตั้งนายกสมาคม เมื่อครบวาระ
32.2 ประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลแก่สมาชิกที่มีผลงานดีเด่น
32.3 รับทราบการดำเนินกิจกรรมประจำปีของสมาคม
32.3 รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและวิชาการต่าง ๆ
32.4 ถอดถอนคณะกรรมการ ทั้งนี้ ต้องมีเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกที่มาประชุม
ข้อ 33. ให้มีการประชุมคณะกรรมการของสมาคมอย่างน้อยปีละสองครั้งและต้องมีคณะกรรมการมาประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่ง จึงจะครบองค์ประชุม

ข้อ 34. ในการประชุมคณะกรรมการหากมิได้มีข้อบังคับไว้เป็นอย่างอื่น ให้นายกสมาคมแจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน

ข้อ 35. ให้นายกสมาคม เป็นประธานในที่ประชุม ให้เลขานุการกรรมการ เป็นเลขานุการการประชุม มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก เว้นแต่กรณีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้นายกสมาคมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 36. ในการประชุมคณะกรรมการ ประธานในที่ประชุม มีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติ หรือผู้สังเกตการณ์ เพื่อชี้แจงหรือให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้
ข้อ 37. สมาคมอาจหาทุนดำเนินการได้ ดังนี้
37.1 จากเงินบำรุงของสมาชิก
37.2 จากเงินอุดหนุนหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้
37.3 จากการจัดหารายได้ด้วยวิธีการที่เหมาะสม
37.4 จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร
ข้อ 38. เงินของสมาคม ต้องนำฝากไว้กับธนาคารหรือสถาบันการเงินตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร โดยให้นายกสมาคม เหรัญญิก และเลขานุการ มีอำนาจในการเปิดบัญชีกับธนาคารหรือสถาบันการเงิน ดังกล่าว

ข้อ 39.ให้เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ไม่เกินกว่า 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ส่วนที่เกินให้นำฝากธนาคารหรือสถาบันการเงินในนามสมาคม

ข้อ 40. ให้นายกสมาคมมีอำนาจก่อหนี้ผูกพัน และมีอำนาจจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 30,000 บาท (สามหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้น จะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการ และคณะกรรมการจะอนุมัติให้จ่ายเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) หากมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินเกินกว่าที่กำหนดต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม

ข้อ 41. ให้นายกสมาคม มีอำนาจจำหน่ายโอนทรัพย์สินของสมาคม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการและต้องรายงานให้ที่ประชุมใหญ่ทราบ

ข้อ 42. การสั่งจ่ายเงินของสมาคมต่อธนาคารหรือสถาบันการเงิน ให้นายกสมาคมกับเหรัญญิก หรือ เลขานุการลงนามร่วมกันทุกครั้ง จึงจะเบิกได

ข้อ 43. ให้มีผู้สอบบัญชีซึ่งไม่ใช่คณะกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีได้รับ อนุญาต

ข้อ 44. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงิน และทรัพย์สินจากคณะกรรมการ และสามารถจะเชิญคณะกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม เพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชี และทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 45. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชีเมื่อได้รับการร้องขอ
ข้อ 46. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ 2 ทาง คือ
46.1 คณะกรรมการเห็นสมควรให้แก้ไข เพื่อความเหมาะสมในการดำเนินกิจการของสมาคมและเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
46.2 ที่ประชุมใหญ่มีมติ 2 ใน 3 ของสมาชิกสามัญที่เข้าประชุมทั้งหมดหรือไม่น้อยกว่า 100 คน
ข้อ 47. สมาคมอาจเลิกกิจการ เมื่อที่ประชุมใหญ่สมาชิกสามัญมีมติให้เลิกกิจการ ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่า 200 คน

ข้อ 48. เมื่อสมาคมจำต้องเลิกกิจการให้จัดการทรัพย์สินดังนี้
48.1 ให้จำหน่ายทรัพย์สินและชำระหนี้สิน
48.2 ถ้ามีเงินเหลืออยู่ให้ยกให้แก่ มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา
ข้อ 49. การตีความในข้อบังคับหากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการโดยเสียงข้างมากของจำนวนคณะกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 50. ให้นายกสมาคมเป็นผู้รักษาการตามข้อบังคับนี้
ข้อ 51. ในระยะเริ่มแรกนี้ ให้ มีการสมัครสมาชิกสมาคมเป็นรายปีๆ ละ 200 บาท และตลอดชีพ 1,000 บาท ในทันทีที่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ข้อ 52. ข้อบังคับฉบับนี้ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้นไป

ข้อ 53. คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วย นายกสมาคม และคณะกรรมการอื่นๆตามจำนวนที่ระบุไว้ในข้อบังคับของสมาคม
Top